ไทย
วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555
แผนการจัดการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 มาตรา ก กา...จำไว้หนาไม่มีตัวสะกด
แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 ลักษณะของคำในมาตรา ก กา
ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 เวลา 1 ชั่วโมง
วันที่สอน ...............................................
ผู้ สอน .................................................. โรงเรียน ...............................................................
มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด
มาตรฐานการเรียนรู้
มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
ตัวชี้วัด
มฐ. ท ๔.๑ ป. ๔/๑ สะกดคำและบอกความหมายของคำในบริบทต่าง ๆ
จุดประสงค์การเรียนรู้สู่ตัวชี้วัด
๑. อธิบายลักษณะของคำในมาตรา ก กา (K)
๒. จำแนกคำในมาตรา ก กา (P)
๓. กระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรม (A)
สาระสำคัญ
คำในมาตรา ก กา ไม่มีตัวสะกด
สาระการเรียนรู้
๑. ความรู้
ลักษณะของคำในมาตรา ก กา
๒. ทักษะ/กระบวนการ/กระบวนการคิด
การจำแนก การจัดระบบความคิดเป็นแผนภาพ การสรุปความรู้
๓. คุณลักษณะอันพึงประสงค์
ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย
ความเข้าใจที่คงทน (Enduring Understanding)
นักเรียนสามารถสรุปได้ว่า คำในมาตรา ก กา เป็นคำที่ไม่มีตัวสะกด
ชิ้นงานหรือภาระงาน (หลักฐาน ร่องรอยแสดงความรู้)
ใบข้อความที่นักเรียนจำแนกคำในมาตรา ก กา
คำถามท้าทาย
คำเกิดขึ้นได้อย่างไร
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
๑. ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยครูใช้คำถามท้าทาย ดังนี้
๏ คำเกิดขึ้นได้อย่างไร
๒. ให้นักเรียนอ่านบทร้อยกรอง “ไหว้ผู้มีพระคุณ” สังเกตคำที่ครูกำหนด จากนั้นช่วยกันจำแนกส่วนประกอบของคำ แล้วสรุปข้อมูลที่ได้จากการสังเกต
ไหว้ผู้มีพระคุณ
ข้าไหว้พระบิดา ไหว้บาทาพระชนนี
ไหว้พระอาจารีย์ ใส่เกศีไหว้บาทา
ข้าไหว้พระครูเจ้า ครูผู้เฒ่าใส่เกศา
ให้รู้ที่วิชา ไหว้บาทาที่พระครู
๓. ให้นักเรียนทายปริศนาต่อไปนี้
๑) บออะไร ชื่อดอกไม้ ใช้บูชาพระ (บัว)
๒) บออะไร ผลยาวกินได้ ใช้ผัดกับไข่ (บวบ)
เมื่อนักเรียนทายถูก ครูเขียนคำตอบบนกระดาน จากนั้นให้นักเรียนจำแนกส่วนประกอบของคำลงในแผนภาพ ดังนี้
๔. ให้นักเรียนสังเกตส่วนประกอบของคำ จากนั้นครูใช้คำถามดังนี้
๑) คำทั้งสองต่างกันอย่างไร (ต่างกันที่ตัวสะกด คือ คำแรกไม่มีตัวสะกด คำที่สอง
มีตัวสะกด)
๒) ถ้านักเรียนจะแบ่งประเภทของคำในภาษาไทยโดยพิจารณาจากตัวสะกด จะแบ่งได้
กี่ประเภท อะไรบ้าง (๒ ประเภท คือ คำที่มีตัวสะกด และคำที่ไม่มีตัวสะกด)
๕. ให้นักเรียนเขียนชื่อเล่นของตนเองตัวใหญ่ๆ ลงในกระดาษที่ครูแจกให้ แล้วจับกลุ่ม โดยใช้ตัวสะกดเป็นเกณฑ์ซึ่งจะได้ ๒ กลุ่ม จากนั้นให้แต่ละกลุ่มพูดชื่อของตนเองพร้อมชูบัตรคำ
ครูและเพื่อนๆ จะช่วยกันตรวจสอบว่านักเรียนเข้ากลุ่มถูกหรือไม่
๖. ให้นักเรียนกลุ่มที่มีชื่อไม่มีตัวสะกด นำบัตรคำมาติดบนกระดาน แล้วให้นักเรียนทุกคนร่วมกันพิจารณาว่าคำที่ไม่มีตัวสะกดเหล่านั้นมีส่วนประกอบของคำเป็นอย่างไรบ้าง โดยครูใช้คำถาม ดังนี้
๑) ชื่อใครประกอบด้วยพยั¬ญชนะต้นและสระ (ตัวอย่างคำตอบ นา เอ)
๒) ชื่อใครประกอบด้วยพยั¬ญชนะต้น สระ และรูปวรรณยุกต์ (ตัวอย่างคำตอบ ไก่ บี้)
๓) ชื่อใครประกอบด้วยพยั¬ญชนะต้น สระ และตัวการันต์ (ตัวอย่างคำตอบ เมย์)
๔) ชื่อใครประกอบด้วยพยั¬ญชนะต้น สระ รูปวรรณยุกต์ และตัวการันต์
(ตัวอย่างคำตอบ ไม่มี)
๕) ชื่อใครประสมด้วยสระเสียงยาว (ตัวอย่างคำตอบ นา เอ บี้ เมย์)
๖) ชื่อใครประสมด้วยสระเสียงสั้น (ตัวอย่างคำตอบ ไก่)
๗. ให้นักเรียนร่วมกันสรุปส่วนประกอบของคำที่ไม่มีตัวสะกดว่าประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และบางคำอาจมีตัวการันต์ ครูอธิบายเพิ่มเติมว่า คำที่ไม่มีตัวสะกดนี้จัดอยู่ใน มาตรา ก กา
๘. ครูแจกข้อความสั้นๆ ให้นักเรียนคนละ ๑ ข้อความ (ข้อความมี ๔ ชุด นักเรียนจะได้ คละกันไป) แล้วให้นักเรียนจำแนกคำในมาตรา ก กา จากข้อความนั้นเขียนลงในช่องว่าง จากนั้นครูเขียนข้อความทั้งหมดบนกระดานเพื่อร่วมกันเฉลย ดังนี้
๑) “ข้างหลังภาพนั้นมีชีวิต และเป็นชีวิตที่ตรึงตรา อยู่บนดวงใจของข้าพเจ้า”
๒) “สำหรับคนอื่น ข้างหลังภาพนั้นก็คือกระดาษแข็งแผ่นหนึ่ง และต่อไปก็คือผนัง”
๓) “ข้าพเจ้าย่อมทราบดีว่า ผู้เขียนได้เขียนภาพนั้นด้วยชีวิตมิใช่โดยไม่เอาใจใส่เลย”
๔) “ข้าพเจ้าแลเห็นความเคลื่อนไหวทุกสิ่งทุกอย่างในภาพอันสงบและดูเป็นธรรมดา
ที่สุดนั้น”
หมายเหตุ ที่มาของข้อความจากเรื่อง ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา คำที่ขีดเส้นใต้เป็นคำใน
มาตรา ก กา
๙. ให้นักเรียนตรวจสอบผลงานของตนเอง และซักถามหากมีข้อสงสัย
๑๐. ให้นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้ว่า คำในมาตรา ก กา เป็นคำที่ไม่มีตัวสะกด
๑๑. ให้นักเรียนทำกิจกรรมทบทวนความรู้โดยแยกส่วนประกอบของคำในมาตรา ก กา ที่ประสมสระเสียงสั้นและสระเสียงยาว
การจัดบรรยากาศเชิงบวก
ให้นักเรียนได้ตอบคำถามและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ครูเป็นผู้แนะนำให้นักเรียนคิดและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้น
สื่อการเรียนรู้
๑. บทร้อยกรอง “ไหว้ผู้มีพระคุณ”
๒. ปริศนาคำทาย
๓. กระดาษสำหรับเขียนชื่อเล่น
๔. ใบข้อความ
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
๑. วิธีการวัดและประเมินผล
๑) สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรม
๒) สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม
๒. เครื่องมือ
๑) แบบสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม
๒) แบบสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม
๓. เกณฑ์การประเมิน
๑) การประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม
ผ่านตั้งแต่ ๒ รายการ ถือว่า ผ่าน
ผ่าน ๑ รายการ ถือว่า ไม่ผ่าน
๒) การประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม
คะแนน ๙ - ๑๐ ระดับ ดีมาก
คะแนน ๗ - ๘ ระดับ ดี
คะแนน ๕ - ๖ ระดับ พอใช้
คะแนน ๐ - ๔ ระดับ ควรปรับปรุง
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับบุคคลต่าง ๆ ที่มีพระคุณต่อนักเรียน จากบทร้อยกรอง “ไหว้ผู้มีพระคุณ” และการตอบแทนผู้มีพระคุณเหล่านั้น
บันทึกหลังการสอน
ผลการจัดการเรียนการสอน
นักเรียนได้เรียนเรื่องลักษณะของคำในมาตรา ก กา นักเรียนสามารถสรุปได้ว่า คำในมาตรา ก กา เป็นคำที่ไม่มีตัวสะกด
ปัญหา / อุปสรรค
-นักเรียนไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวันจึงทำให้ดูห่างเหิน
-การใช้ภาษาที่ต่างกันอาจมีปัญหาในการอธิบาย
ห้องเรียนรวมช่วงชั้นจึงไม่อาจสอนกลุ่มเป้าหมายได้เต็มที่เพราะต้องรับผิดชอบ ชั้นอื่นที่ร่วมห้องเรียนด้วย
แนวทางแก้ไข
เนื่องจากชุมชนของนักเรียน เป็นเผ่ากะเหรี่ยง ส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลักในการสื่อสารควรบังคับใช้ภาษาไทยในโรงเรียนเพื่อให้เกิดทักษะและการเรียนรู้กับนักเรียน
ลงชื่อ__________________ (ผู้บันทึก)
(_นายสุกา ธารายืนยง_)
_____/_____/_____
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)